น้ำมันปลา (fish oil) หรือ โอเมก้า-3 (Omega-3)

ชื่อสมุนไพร

น้ำมันปลา (fish oil) หรือ โอเมก้า-3 (Omega-3)

ชื่อวิทยาศาสตร์

ข้อบ่งใช้บนหลักฐานเชิงประจักษ์ในคน

  • ขนาดที่รับประทานเป็นอาหารได้อย่างปลอดภัย คือ โอเมก้า-3 ขนาดไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน
  • ลดไตรกลีเซอไรด์ในเลือดเมื่อรับประทานขนาด 4 กรัมต่อวัน ควรใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์
  • สมาคมโรคหัวใจของอเมริกายังไม่แนะนำให้ใช้โอเมก้า-3 (omega-3) จากพืช หรือน้ำมันปลา สำหรับป้องกันโรคหลอดเลือดหัวใจในผู้ที่ไม่มีหรือมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ ผู้ป่วยเบาหวานหรือภาวะก่อนเบาหวาน (prediabetes) เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยในคนจำนวนมากเพียงพอรับรองว่าได้ประโยชน์
  • ไม่แนะนำให้ใช้สำหรับการป้องกันการกลับเป็นซ้ำในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เนื่องจากจากงานวิจัย 10 การศึกษา พบว่า ผู้ที่ใช้และไม่ใช้โอเมก้า-3 ลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดหัวใจหรือลดการเกิดโรคหัวใจอื่น ๆ ไม่แตกต่างกัน

           *สูง, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัย 22 การศึกษาในผู้สูงอายุที่เพิ่งเริ่มมีจอประสาทตาเสื่อม พบว่าการรับประทานปลา (15 กรัมต่อวัน) ช่วยชะลอการเสื่อมได้มากกว่าการรับประทานโอเมก้า-3 (1 กรัมต่อวัน ช่วยชะลอการเสื่อมได้เล็กน้อย)

          *ปานกลาง, อาจใช้เสริมการรักษามาตรฐาน

  • งานวิจัย 17 การศึกษาในผู้ที่มีอาการตาแห้ง 3,363 คน รับประทานโอเมก้า-3 ขนาดและระยะเวลาที่ใช้ส่วนใหญ่ เท่ากับ 1-2 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 3-6 เดือน พบว่า ช่วยบรรเทาอาการตาแห้ง เพิ่มระยะเวลาน้ำตาเคลือบตา และตาผลิตน้ำตาเพิ่มขึ้น ช่วยเพิ่มความชุ่มชื่นให้ดวงตา

          *ปานกลาง, อาจใช้เสริมการรักษามาตรฐาน 

  • งานวิจัยในผู้ที่มีสุขภาพดี จำนวน 25,871 คน ที่รับประทานโอเมก้า-3 ขนาด 1 กรัมต่อวัน เทียบกับผู้ที่ไม่ได้รับประทาน พบว่า ไม่มีผลป้องกันการเกิดโรคตาแห้งและไม่มีผลป้องกันการเกิดโรคตาแห้งรุนแรง

          *สูง, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัย 26 การศึกษาในผู้ป่วยโรคซึมเศร้า จำนวน 2,160 คน พบว่า EPA ขนาด อย่างน้อย 1 กรัมต่อวัน เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน อาจช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้เล็กน้อย แต่ไม่พบว่า DHA ช่วยบรรเทาอาการซึมเศร้าได้

           *ต่ำ, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัยในผู้หญิง จำนวน 1,865 คน พบว่า โอเมก้า-3 ไม่มีผลเพิ่มมวลกระดูกในผู้หญิงที่มีกระดูกพรุน

           *ปานกลาง, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัย 70 การศึกษาในหญิงตั้งครรภ์ จำนวน 19,927 คน พบว่า ผู้ที่รับประทานโอเมก้า-3 ช่วยลดความเสี่ยงการคลอดก่อนกำหนด อย่างไรก็ตามควรหลีกเลี่ยงการรับประทานในหญิงตั้งครรภ์ที่มีความเสี่ยงคลอดช้ากว่ากำหนด เพราะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงดังกล่าว

           *สูง, แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัยในผู้ป่วยโควิด จำนวน 445,850 คน ที่รายงานการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วยตนเอง พบว่า ผู้ที่ใช้โอเมก้า-3 ลดความเสี่ยงการติดเชื้อโควิด

            *ปานกลาง, อาจใช้ร่วมกับมาตรการป้องกันโควิดอื่น ๆ

  • งานวิจัยเชิงสังเกตในผู้ป่วยโควิด 100 คน พบว่า ปริมาณน้ำมันปลาในร่างกาย (ระดับของ EPA และ DHA) ที่เพิ่มขึ้น ไม่สัมพันธ์กับการลดอัตราการเสียชีวิตจากโรคโควิด สำหรับการลดความรุนแรงของโรคโควิดยังต้องรอผลการศึกษาในผู้ป่วยโควิดต่อไป

           *ต่ำ, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัยในคนพบว่าผู้ที่ใช้และไม่ใช่โอเมก้า-3 พบว่าเป็นมะเร็งลำไส้ไม่แตกต่างกัน

           *สูง, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัยในผู้ที่เพิ่งเป็นรูมาตอยด์ จำนวน 140 คน รับประทานยามาตรฐาน (triple DMARD) 3 ชนิด คือ methotrexate, suphasalazine และ hydroxychloroquine ร่วมกับน้ำมันปลาขนาดสูง 5.5 กรัมต่อวัน เทียบกับน้ำมันปลาขนาดต่ำ 0.4 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 1 ปี พบว่า กลุ่มที่ได้น้ำมันปลาในขนาดสูงลดอัตราการล้มเหลวจากยามาตรฐาน 3 ชนิด (failure of triple DMARD therapy) ได้มากกว่ากลุ่มที่ได้รับน้ำมันปลาในขนาดต่ำ

           *ปานกลาง, อาจใช้เสริมการรักษามาตรฐาน

  • งานวิจัย 5 การศึกษาในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ จำนวน 758 คน พบว่า โอเมก้า-3 ไม่มีผลเพิ่มความจำหรือการคิดวิเคราะห์

           *ปานกลาง, ไม่แนะนำให้ใช้ 

Copyright © 2020 by M.Tangkiatkumjai