กระเทียม

ชื่อสมุนไพร

กระเทียม

ชื่อวิทยาศาสตร์

Allium sativum L.

ข้อบ่งใช้บนหลักฐานเชิงประจักษ์ในคน

  • งานวิจัย 17 การศึกษาในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 735 คน ได้รับผงกระเทียม ขนาด 300-2,400 มก.ต่อวัน เป็นเวลา 2-24 สัปดาห์ พบว่า ผงกระเทียมลดความดันโลหิตได้ประมาณ 3 มิลลิเมตรปรอทเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ใช้ แต่ไม่มีผลป้องกันการเกิดโรคความดันโลหิตสูงในผู้ที่ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง

          *สูง, แนะนำให้ใช้ แต่ไม่ได้ใช้เป็นทางเลือกแรกในการรักษาและห้ามใช้แทนยาลดความดันโลหิต เนื่องจากกระเทียมลดความดันโลหิตได้น้อยมาก

  • งานวิจัย 14 การศึกษาในผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง จำนวน 1,093 คน ได้รับสารสกัดกระเทียม น้ำมันกระเทียม หรือ กระเทียมดำ ขนาด 0.3-20 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 4 สัปดาห์ ถึง 10 เดือน พบว่า มีผลลดคอเลสเตอรอล ลดระดับไขมันไม่ดี (LDL) และเพิ่มไขมันดี (HDL) ได้น้อย ประมาณ 1 มก.ต่อเดซิลิตร แต่ลดไตรกลีเซอไรด์ได้ไม่แตกต่างจากผู้ที่ไม่ได้ใช้

          *ปานกลาง, อาจใช้สำหรับข้อบ่งใช้นี้ แต่ห้ามใช้แทนยาลดไขมันที่แพทย์ให้ใช้ เนื่องจากกระเทียมลดไขมันในเลือดได้น้อยมาก

  • การรับประทานกระเทียมสดเพื่อหวังผลลดไขมันในเลือด ต้องรับประทาน 5-6 กรัมต่อวัน
  • ยังไม่มีงานวิจัยในคนยืนยันว่าสามารถป้องกันการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดได้

          *ไม่มีข้อมูล, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัย 5 การศึกษาในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 จำนวน 393 คน รับประทานสารสกัดกระเทียม ขนาด 300-600 มก.ต่อวัน ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือด อย่างน้อย 1 เดือน พบว่า อาจช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดได้เล็กน้อย

          *ปานกลาง, อาจใช้สำหรับข้อบ่งใช้นี้ร่วมกับยาลดน้ำตาลในเลือด

  • การศึกษาติดตามผู้ที่รับประทานกระเทียม หลายการศึกษา พบว่า อาจลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งกระเพาะอาหาร แต่ไม่ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้ และการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกระเทียมอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดมะเร็งลำไส้

          *สูง, อาจใช้สำหรับข้อบ่งใช้นี้

  • งานวิจัยในประชาชนทั่วไป จำนวน 146 คน รับประทานกระเทียมที่มีสารสำคัญอัลลิซิน (allicin) ขนาด 180 มก.ต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า อาจช่วยป้องกันโรคหวัดได้เล็กน้อยเมื่อรับประทานติดต่อกันไม่น้อยกว่า 3 เดือน

           *ต่ำ, ไม่แนะนำให้ใช้

  • ยังไม่มีงานวิจัยในคนยืนยันผลว่าช่วยป้องกันไข้หวัดใหญ่ได้

           *ต่ำ, ไม่แนะนำให้ใช้ 

  • งานวิจัยในผู้ป่วยโควิด จำนวน 445,850 คน ที่รายงานการใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารด้วยตนเอง พบว่า ผู้ที่ใช้กระเทียมและไม่ใช้ มีความเสี่ยงการติดเชื้อโควิดไม่แตกต่างกัน

            *ปานกลาง, ไม่แนะนำให้ใช้ 

  • งานวิจัยในผู้ที่มีผมร่วงเป็นหย่อม ทั้งชายและหญิง จำนวน 40 คน ทาบริเวณที่ผมร่วงด้วยเจลกระเทียม ความเข้มข้น 5% ร่วมกับทายาสเตียรอยด์ betamethasone ความเข้มข้น 1% วันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า กลุ่มที่ใช้เจลกระเทียมมีผลร่วงลดลงและผมขึ้นใหม่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับผู้ที่ใช้ยาสเตียรอยด์อย่างเดียว

           *ปานกลาง, อาจใช้เสริมการรักษามาตรฐาน

  • งานวิจัยในผู้ป่วยหญิงโรครูมาตอยด์ มีความรุนแรงปานกลางถึงมาก จำนวน 70 คน รับประทานสารสกัดกระเทียม ขนาด 1 กรัมต่อวัน (เทียบเท่ากระเทียมสด 2.5 กรัม) ร่วมกับยาที่ใช้รักษาโรคตามมาตรฐาน เป็นเวลา 2 เดือน พบว่า อาจช่วยบรรเทาอาการปวดได้

           *ปานกลาง, อาจใช้เสริมการรักษามาตรฐาน

Copyright © 2020 by M.Tangkiatkumjai