กระเทียมดำ

ชื่อสมุนไพร

กระเทียมดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์

Allium sativum L.

ข้อบ่งใช้บนหลักฐานเชิงประจักษ์ในคน

  • กระทียมดำ คือ กระเทียมที่ผ่านการหมักภายใต้อุณหภูมิ (60-90 องศา) และความชื้นสูง (80-90%) เป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน ทำให้กระเทียมมีสีดำมีกลิ่นกระเทียมลดลง และมีสารสำคัญ S-allylcysteine คาร์โบไฮเดรต (47%) และพลังงาน (1.6 เท่า) มากกว่ากระเทียมสด
  • งานวิจัยในผู้ที่มีคอเลสเตอรอลในเลือดสูงเล็กน้อย จำนวนน้อย (28 คน) รับประทานกระเทียมดำ ขนาด 6 กรัมต่อวัน เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า ไม่มีผลลดระดับไขมันในเลือด ทั้งไตรกลีเซอไรด์ คอเลสเตอรอล และไขมันไม่ดี (LDL)

          *ปานกลาง, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัยในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 88 คน รับประทานกระเทียมดำ ขนาด 1.2 กรัมต่อวัน (มีส่วนประกอบของ S-allylcysteine 1.2 มก.) ร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูง เป็นเวลา 3 เดือน พบว่า ช่วยลดความดันโลหิตค่าบน (systolic blood pressure) 5 มม.ปรอท และลดความดันโลหิตค่าล่าง (diastolic blood pressure) 1 มม.ปรอท

          *สูง, แนะนำให้ใช้ร่วมกับยารักษาความดันโลหิตสูง

  • การป้องกันโรคหัวใจ ควรรอผลการศึกษาที่น่าเชื่อถือโดยไม่มีความลำเอียงจากบริษัทผลิตกระเทียมดำยี่ห้อใด ยี่ห้อหนึ่ง และควรมีการศึกษาในระยะยาว เพื่อยืนยันผล

          *ต่ำ, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัย 2 การศึกษาในผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งทางเดินอาหาร จำนวน 3,365 คน รับประทานกระเทียมดำ ขนาด 400 มก.ต่อวัน ได้รับการติดตามผลเป็นเวลา 7 และ 14 ปี พบว่า ไม่ช่วยลดการเกิดมะเร็งทางเดินอาหาร

          *สูง, ไม่แนะนำให้ใช้

  • งานวิจัยในผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ จำนวน 14 คน รับประทานกระเทียมดำ ขนาด 2.4 กรัม ครั้งเดียว พบว่า ไม่มีผลเพิ่มการไหลเวียนเลือดในสมอง

          *ต่ำ, ไม่แนะนำให้ใช้

  • ยังไม่มีงานวิจัยในคนยืนยันผลว่าช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด บำรุงตับ หรือรักษาภูมิแพ้ได้

          *ไม่มีข้อมูล, ไม่แนะนำให้ใช้

Copyright © 2020 by M.Tangkiatkumjai